นวัตกรรมผ้าใบคอนกรีต กับชุมชนตะโหมด จังหวัดพัทลุง ตอนที่ 1

เนื่องในโอกาสครบรอบ 1 ปี ที่ชุมชนตะโหมดได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว พวกเราในนามคณะวิจัย จากกรมทรัพยากรน้ำ ขอร่วมเชิดชูเกียรติชุมชนตะโหมดด้วยการบอกเล่าเรื่องราวดีๆที่เกิดขึ้นในช่วงเวลา 1 ปีที่ผ่านมา




ชุมชนตะโหมด จังหวัดพัทลุง เป็นแบบอย่างของการน้อมนำศาสตร์พระราชามาประยุกต์ใช้ในชุมชน เริ่มจากการฟื้นฟูทรัพยากรป่าต้นน้ำ เน้นการอนุรักษ์ป่าเดิมเพิ่มเติมป่าใหม่ การปลูกป่าในสวนยางพาราหรือที่เรียกว่าสวนสมรม ตามแนวทางเกษตรผสมผสาน การสร้างธนาคารน้ำหรือฝายชะลอน้ำกว่า 300 แห่ง ผลแห่งความสำเร็จในการจัดการน้ำ ดิน ป่าไม้ ทำให้ชุมชนตะโหมดได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว ครั้งที่ 17 (พ.ศ. 2559) จัดโดยสถาบันลูกโลกสีเขียว มูลนิธิพลังที่ยั่งยืน และบริษัทปตท.จำกัด มหาชน

กุญแจสำคัญที่ทำให้เราได้พบและสัมผัสเรื่องราวดีๆของชุมชนตะโหมดคือ พี่ชายชื่อ อดุลย์ แก้วคงธรรม ที่เราได้รู้จักผลงานผ่านสื่อออนไลน์มาระยะหนึ่ง จนเราอยากพบปะ พุดคุย สัมภาษณ์ตามประสานักวิจัย 



แล้วเราก็ได้มีโอกาสได้ร่วมงานกับพี่อดุลย์และพี่ๆตะโหมดในกิจกรรมโครงการวิจัย การพัฒนาโมเดลการสร้างขีดความสามารถในการปรับตัวของชุมชนเพื่อรับมือความเสี่ยงด้านทรัพยากรน้ำที่เกิดจากความแปรปรวนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของกรมทรัพยากรน้ำ ระหว่างปีพ.ศ. 2558-2559 





นับจากวันแรกผ่านมาจนถึงวันนี้ เราได้ประจักษ์ชัดถึงความมีน้ำใจ เสียสละ ทำงานหนักเพื่อส่วนรวม อ่อนน้อมถ่อมตน ยกย่องให้เกียรติทีมงานและผู้อื่นเสมอ พวกเราจึงปลาบปลื้มและยินดีมาก เมื่อชุมชนตะโหมดได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว และพี่อดุลย์ ของพวกเราได้รับรางวัลเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.) ดีเด่น ระดับประเทศ ประจำปีพ.ศ. 2559


พี่อดุลย์ แก้วคงธรรม รับรางวัลเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.) ดีเด่น ระดับประเทศ ประจำปีพ.ศ. 2559 จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
พี่อดุลย์ แก้วคงธรรม กับรางวัลลูกโลกสีเขียวและรางวัลเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.) ดีเด่น ระดับประเทศ ประจำปีพ.ศ. 2559

ปลายปี 2559 เราได้มีโอกาสรู้จักทีมงานเอสซีจี ที่เข้ามาพบปะ นำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ "ผ้าใบคอนกรีต" ซึ่งมีแผนจะวางจำหน่ายเร็วๆนี้ สิ่งที่ทีมงานเอสซีจีต้องการจากเราตอนนั้นคือ ไอเดียในการนำผ้าใบคอนกรีตไปทดลองใช้งานจริง รูปแบบต่างๆ นอกเหนือจากที่เอสซีจีได้ศึกษาและนำเสนอให้เราดู

ณ ตอนนั้น เราไม่มีคำตอบให้เอสซีจี แต่เรามั่นใจว่าพี่อดุลย์และพี่ๆตะโหมดจะช่วยตรงนี้ได้ พวกเราจึงได้เข้าไปพบกับพี่ๆเอสซีจี บอกเล่าเรื่องราวของชุมชนตะโหมด และชักชวนมาทำความรู้จักกับชุมชนตะโหมด เพราะเราอยากให้องค์กรชั้นนำระดับชาติได้รู้จักและร่วมงานกับชุมชนเข้มแข็งระดับประเทศ

มกราคม 2560 พี่ๆเอสซีจี เดินทางมาชุมชนตะโหมด กราบนมัสการพระครูสุนทรกิจจานุโยค เจ้าอาวาสวัดตะโหมด พร้อมกับแนะนำผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ ผ้าใบคอนกรีตและคุณสมบัติต่างๆ ให้พระครู และพี่ๆชุมชนตะโหมดได้รับทราบ การพบปะกันครั้งนั้น เห็นชัดว่าชุมชนตะโหมดกระตือรือร้นสนใจ “ผ้าใบคอนกรีต” อย่างจริงจัง ซักถามและรับฟังอย่างตั้งใจ ช่วยกันคิดว่าจะนำผ้าใบคอนกรีตมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับชุมชนได้อย่างไรบ้าง ซึ่งก็มีหลายรูปแบบที่น่าสนใจ


ด้วยความใจกว้างและใจดีของพี่ๆเอสซีจี ชุมชนตะโหมดจึงได้รับการสนับสนุนผ้าใบคอนกรีตเพื่อใช้ในจัดการน้ำทุกรูปแบบที่เสนอมา ได้แก่ คลองส่งน้ำ ฝายชะลอน้ำหรือธนาคารน้ำ บ่อเลี้ยงปลาในร่องสวน และบ่อเลี้ยงกุ้ง (บ่อลอย)

คลองส่งน้ำที่เชื่อมระหว่างลำเหมืองจากคลองกงและลำเหมืองจากคลองตะโหมด ที่จะทดลองปูพื้นด้วยผ้าใบคอนกรีต

การออกแบบบ่อเลี้ยงกุ้งผ้าใบคอนกรีต บ่อเลี้ยงปลาผ้าใบคอนกรีต และฝายชะลอน้ำที่ผสมผสานระหว่างกระสอบทรายกับผ้าใบคอนกรีต
วันรุ่งขึ้น พระครูเจ้าอาวาสวัดตะโหมดพร้อมด้วยพี่ๆชุมชนตะโหมด ได้นำทีมพี่ๆเอสซีจี และพวกเราทีมงานวิจัยไปสำรวจคัดเลือกพื้นที่ดำเนินกิจกรรม ต้องขอขอบคุณพี่ๆเอสซีจีอีกครั้ง ที่ได้สนับสนุน "ผ้าใบคอนกรีต" จำนวนนับร้อยม้วน ให้ชุมชนตะโหมดทดลองใช้จัดการน้ำในรูปแบบต่างๆ ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์






แต่แล้วสิ่งที่ไม่คาดคิดก็บังเกิดขึ้น นั่นคือ เหตุการณ์น้ำท่วมภาคใต้ หนักที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ ทำให้ถนนเพชรเกษมบางช่วงขาดสะบั้นต้องปิดการจราจรชั่วคราวบางจุด ทำให้การขนส่งผ้าใบคอนกรีตจากเอสซีจี มายังชุมชนตะโหมด ต้องชะลอออกไปจนกว่าจะซ่อมถนนเสร็จ หลังจากนั้น กว่าทีมงานจะพร้อมตรงกันอีกครั้ง ก็ล่วงเลยมาจนถึงปลายเดือนเมษายน 2560
ดูเหมือนการทดสอบความมุ่งมั่นของชุมชนตะโหมดยังไม่จบ เพราะเมื่อพวกเราทีมนักวิจัยกรมทรัพยากรน้ำ ทีมเอสซีจี มาพร้อมกันตามวันที่นัดหมายก็พบว่าคลองส่งน้ำที่พวกเราจะมาสาธิตการดาดคลองด้วย "ผ้าใบคอนกรีต" กลับมีน้ำอยู่เต็มคลองเพราะฝนตกติดต่อกันมาหลายวัน โดยไม่มีทีท่าว่าจะหยุดตกเลยสักวัน จนพี่ๆตะโหมดบ่นอุบว่า ปกติเดือนเมษายน เป็นฤดูแล้ง เพิ่งมีปีนี้ที่เกิดฝนตกหนักราวกับฤดูฝน


พี่อดุลย์ น้องดีน-น้องเอก เอสซีจี ประเมินสถานการณ์ว่าจะทำอย่างไรต่อไป
สาวๆคณะวิจัยจากกรมทรัพยากรน้ำ จัดเต็ม เตรียมพร้อมลุยงานค่ะ
แม้จะมีอุปสรรคขวางหน้า แต่พี่ๆตะโหมด โดยเฉพาะพี่อดุลย์และพี่นิพล ก็ไม่ยอมแพ้ พยายามแก้ไขด้วยการนำเครื่องสูบน้ำมาสูบน้ำออก



สองหนุ่มจากเอสซีจีช่วยเต็มที่ ช่วยยกเครื่องสูบน้ำมาวางให้เลย
กว่าน้ำจะแห้งคลองคงใช้เวลาหลายชั่วโมง  ระหว่างการรอคอย พี่ๆตะโหมดจึงพาพวกเราไปดูจุดชมวิว ที่ตั้งใจจะพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวของชุมชนในอนาคต



จากจุดชมวิวมุมสูง กล่าวได้ว่า เป็นครั้งแรกของพวกเราที่ได้เห็นสภาพภูมิประเทศของชุมชนตะโหมดอย่างชัดเจน ได้เห็นเทือกเขาบรรทัดที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าไม้เขียวขจี  ความสวยงามเบื้องหน้าทำให้สาวๆอดใจไม่ไหว โพสต์ท่าถ่ายรูปรัวๆ แข่งกับเมฆฝนที่มืดครึ้ม เป็นสัญญาณว่า ฝนจะตกหนักในอีกไม่กี่นาทีข้างหน้าอย่างแน่นอน







ถึงฝนจะตก ฟ้าจะร้อง แต่พี่ๆตะโหมด น้องๆเอสซีจี ก็ไม่ท้อถอยอีกเช่นเคย ยังเดินหน้าทำงานต่อ ชักชวนกันไปสำรวจพื้นที่ที่คาดว่าจะนำ "ผ้าใบคอนกรีต" มาทำบ่อเลี้ยงปลา ซึ่่งเป็นกิจกรรมถัดไป



กว่าฝนจะซา พอให้พวกเรากลับมาที่คลองส่งน้ำอีกครั้งก็ปาเข้าไปเกือบสี่โมงเย็น ภาพที่เห็นคือน้ำในคลองแห้งลงบ้างแล้ว แต่ก็ยังไม่แห้งสนิท พวกเราจึงนัดกันว่าจะเริ่มสาธิตปูผ้าใบคอนกรีตในวันพรุ่งนี้ตั้งแต่เช้าเลย จึงร่ำลาพี่ๆตะโหมด เพื่อเดินทางกลับที่พักในหาดใหญ่ และด้วยความที่พวกเราไม่แน่ใจว่าน้องๆเอสซีจีนิยมห้องพักแบบไหนจึงไม่ได้จองที่พักไว้ให้ พี่อดุลย์จึงชวนน้องๆเอสซีจี นอนพักค้างที่บ้าน ซึ่งน้องๆก็รับคำชวนอย่างเต็มใจ  จุดนี้ต้องขอชื่นชมน้องดีน-น้องเอกจากเอสซีจี ที่ทำงานเกาะติดชุมชน พยายามหาโอกาสพูดคุยเตรียมงานและสานสัมพันธ์กับพี่ๆตะโหมดอย่างเป็นกันเอง แม้พวกเราจะแยกกันนอนคนละที่  แต่เราต่างก็มีความตั้งใจเดียวกัน นั่นคือ ถ้าคืนนี้ฝนไม่ตกลงมาอีก ... พรุ่งนี้ พวกเราจะเริ่มงานกันแต่เช้า