นวัตกรรมผ้าใบคอนกรีตกับชุมชนตะโหมด จังหวัดพัทลุง ตอนที่ 4,

ผ้าใบคอนกรีต & กิจกรรม “คนโหมด ๙ ย่างตามทางพ่อ ดิน น้ำ ป่า”


เดือนสิงหาคม 2560 ที่พวกเราทีมนักวิจัยกรมทรัพยากรน้ำ และทีมเอสซีจี ลงพื้นที่ชุมชนตะโหมดเพื่อเยี่ยมชมผลงานการนำผ้าใบคอนกรีตมาประยุกต์ใช้ในรูปแบบต่างๆ นั้น เป็นช่วงเวลาที่ชุมชนตะโหมด จะเรียกว่าทั้งอำเภอตะโหมดก็ได้ มีกิจกรรม “คนโหมด ๙ ย่างตามทางพ่อ ดิน น้ำ ป่า” เนื่องในโอกาสที่ชุมชนตะโหมดได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียวประจำปีพ.ศ. 2559 ซึ่งได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2560 ณ วัดตะโหมด อำเภอตะโหมด จังหวัดพัทุลง



กิจกรรมในงาน นอกจากการเสวนาพูดคุยแล้ว ยังมีนิทรรศการทางวิชาการของกลุ่มต่างๆ รวมถึงนำเสนอผลิตภัณฑ์ชุมชนหลากหลายประเภท พี่ๆตะโหมดของเราได้จัดบูธนิทรรศการชื่อ “เครือข่ายคนรักษ์ลุ่มน้ำพัทลุง” เพื่อเสนอแนวคิดและการทำงานของกลุ่ม แน่นอนว่าการจัดบูธนิทรรศการจึงมุ่งเน้นใช้ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ มีการสาธิตวิธีการเลี้ยงและขยายเชื้อจุลินทรีย์เบญจคุณที่มีทั้งสูตรน้ำหรือจุลินทรีย์น้ำ และสูตรแห้งหรือก้อนจุลินทรีย์ 

บูธนิทรรศการสมาคมคนรักษ์ลุ่มน้ำพัทลุง
ถ่ายรูปกับสแตนดี้พี่อดุลย์ แก้วคงธรรม ประธานเครือข่ายคนรักษ์ลุ่มน้ำพัทลุง
ป้ายความรู้ คู่มือการเลี้ยงและขยายเชื้อจุลินทรีย์เบญจคุณ
ก้อนจุลินทรีย์เบญจคุณ สูตรเด็ดของพี่นิพล บัติปัน
น้องๆทีมเอสซีจี แม้จะมากันเพียง 2 คน พร้อมกับอุปกรณ์น้อยชิ้น (คอมพิวเตอร์โน๊ตบุค 1 ตัว แผ่นโปสเตอร์ 2 แผ่น และชุดสาธิตผ้าใบคอนกรีต 1 ชุด บวกกับจอทีวีที่ยืมมาจากพี่อดุลย์) แต่สามารถเรียกความสนใจของผู้มาชมนิทรรศการได้แบบที่เรียกว่า มีคนเข้ามาดูผลิตภัณฑ์ผ้าใบคอนกรีตอย่างไม่ขาดสาย ตั้งแต่เช้ายันบ่าย ขณะที่บูธอื่นๆเริ่มทยอยเก็บของ แต่บูธเอสซีจีก็ยังมีคนเข้ามาดูชนิดว่ายิ่งบ่าย ยิ่งเยอะ จนน้องดีน น้องเอก ต้องตอบคำถามจนเสียงแหบแห้ง จะไม่ให้คนสนใจดูเยอะแยะมากมายได้อย่างไร ก็น้องๆนำผลิตภัณฑ์ใหม่ มาให้ชุมชนได้ดู แถมยังมีตัวอย่างการใช้งานจริง ทั้งภาพนิ่ง และภาพเคลื่อนไหว จากชุมชนต่างๆ โดยเฉพาะของชุมชนตะโหมด ที่พี่ๆตะโหมดช่วยการันตีว่า ผ้าใบคอนกรีต ของเอสซีจีเค้าดีจริงๆ
ช่วงเช้าๆ มีนักเรียนเข้าเยี่ยมชมบูธเอสซีจีอย่างเนืองแน่น
สนใจการสาธิตวิธีปูผ้าใบคอนกรีตอย่างจริงจัง
น้องๆมาช่วยรดน้ำใส่ชุดสาธิต เพื่อให้ผ้าใบคอนกรีตแข็งตัว
มุงดูวีดีโอสาธิตวิธีการปูผ้าใบคอนกรีต
อ่านเนื้อหาคุณลักษณะของผ้าใบคอนกรีตแล้วจดบันทึก
นอกจากเด็กๆแล้ว ผู้ใหญ่ก็สนใจเช่นกัน
พี่ชายคนนี้สนใจคุณลักษณะของผ้าใบคอนกรีตอย่างจริงจัง
ภาพนี้ยืนยันว่า ใครๆก็สนใจคุณลักษณะของผ้าใบคอนกรีต 
ผ้าใบคอนกรีตถูกนำมาแสดงในบูธนิทรรศการ ให้เหยียบย่ำสัมผัสตามอัธยาศัย
รูปการใช้งานผ้าใบคอนกรีตทำบ่อเลี้ยงกุ้ง บ่อเลี้ยงปลา ฝายชะลอน้ำและคลองส่งน้ำ ได้รับความสนใจอย่างมาก
พี่ทหารก็สนใจผ้าใบคอนกรีต ที่พี่ๆตะโหมดยืนยันว่าของเอสซีจีเค้าดีจริงๆ
เงาะป่าซาไก ก็อดใจไม่ไหวต้องมาชมผ้าใบคอนกรีตของเอสซีจี


นวัตกรรมผ้าใบคอนกรีต กับชุมชนตะโหมด จังหวัดพัทลุง ตอนที่ 3

 บทสรุปความพึงพอใจต่อผลิตภัณฑ์ผ้าใบคอนกรีต

นับจากวันสาธิตการปูผ้าใบคอนกรีตจนถึงวันนี้ สิงหาคม 2560 ก็ผ่านไปราว 4 เดือน คณะนักวิจัยจากกรมทรัพยากรน้ำและทีมงานเอสซีจี จึงได้เข้ามาติดตามผลการใช้งานผ้าใบคอนกรีตของชุมชนตะโหมดว่าเป็นอย่างไรบ้าง

ก่อนหน้านี้ หลังจากปูผ้าใบคอนกรีตเสร็จไปช่วงหนึ่ง พวกเราได้ถามพี่ๆตะโหมดว่าคิดอย่างไรต่อผ้าใบคอนกรีต ชอบ-ไม่ชอบ/ ดี-ไม่ดี อย่างไร พี่ๆตะโหมดยังให้คำตอบได้ไม่ชัดเจนเท่าไรนัก ด้วยความที่ผ้าใบคอนกรีตเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ไม่มีใครเคยใช้มาก่อน แต่เมื่อทดลองใช้มาระยะหนึ่ง คำตอบที่ได้จึงมีความชัดเจนขึ้น อีกทั้งความพึงพอใจที่มีต่อผ้าใบคอนกรีต ด้านความสะดวก ใช้งานง่าย และคุณภาพดี ก็เพิ่มมากขึ้นด้วย

บ่อเลี้ยงกุ้งผ้าใบคอนกรีต

เริ่มต้นด้วยการเยี่ยมชมบ่อเลี้ยงกุ้งผ้าใบคอนกรีต พี่อดุลย์เล่าให้พวกเราฟังว่า "... การใช้ผ้าใบคอนกรีตตัวนี้ น้องเค้าใช้เลี้ยงกุ้งก้ามแดง น้ำลึกประมาณ 50 เซนติเมตร ใช้ได้ดีมาก ใครไปใครมาก็ถามว่าเอามาจากไหน คนสนใจเยอะ ตอนทำ ใช้คน 5 คน ใช้เวลา 2 ชั่วโมงก็เสร็จ ข้อดีของการใช้ผ้าใบคอนกรีตคือ เราไม่ต้องใช้ช่างฝีมือหรือคนมีความรู้เรื่องช่าง ก็สามารถทำได้ แค่รู้วิธีการประกบประสานกันของผ้าใบคอนกรีต มันมีข้อจำกัดว่าต้องทำอย่างไรบ้าง เช่นอันนี้ บ่อลอย เราต้องตีโครง ถ้าตีโครงดี โครงแน่น เราก็สามารถปูได้สะดวกและทนทาน ข้อดีอีกส่วนหนึ่ง คือเรื่องของการใช้แรงงาน ไม่จำเป็นต้องจ้างใครมา แค่ใช้แรงงานในครัวเรือนก็สามารถทำได้ ซึ่งอันนี้ก็ชวนเพื่อนๆมาช่วยกันทำแป้บเดียว เลี้ยงน้ำนิดเดียว คือ ต้นทุนเกือบจะไม่มีเลย แค่มาช่วยกัน ใช้เวลา 2 ชั่วโมง บ่อนี้กว้าง 3 เมตร ยาว 10 เมตร ลึก 90 เซนติเมตร เผื่อพับขอบบ่ออีก 10 เซนติเมตร ใช้งานได้ดีมาก เราขังน้ำไว้คืนหนึ่ง แช่น้ำไว้ แล้วเราค่อยๆเพิ่มปริมาณขึ้น มันก็อยู่ได้ไม่รั่ว..."

พี่อดุลย์ กล่าวต่อว่า “...เราได้ประสบการณ์เรื่องนึงคือ การให้แผ่นผ้าใบประกบกันสนิทในรอยต่อเพื่อไม่ให้รั่วน้ำ เราต้องรดน้ำให้ชุ่มเพื่อให้ปูนระหว่างแผ่นมันประสานกันได้สนิท ถ้าเรารดน้ำนิดเดียวแค่เปียก ความชื้นนั้นอาจไม่พอในการประสาน เหมือนกับเรากวนปูนที่ส่วนผสมไม่เข้ากันกับน้ำ อะไรประมาณนั้น การปูแผ่นผ้าใบคอนกรีตก็เหมือนกัน เราต้องรดน้ำให้ชุ่ม ครั้งแรกนะครับ เพื่อให้ปูนมันแข็งด้วย และประสานกันด้วย...”

ช่วยกันปูผ้าใบคอนกรีตสร้างบ่อเลี้ยงกุ้ง 

เห็นแต่ไกล ก็มั่นใจว่านี่คือ...กิจการครอบครัว

งานเสร็จลงพร้อมกับความภาคภูมิใจ

ภาพนี้ถ่ายไว้ตอนที่พวกเรามาดูงาน หลังจากใช้งานมาได้ระยะหนึ่ง

บ่อเลี้ยงกุ้งผ้าใบคอนกรีต ที่แข็งแรงทนทานและเป็นจุดสนใจของผู้คนในชุมชน

บ่อเลี้ยงปลาผ้าใบคอนกรีต

จากบ่อเลี้ยงกุ้งผ้าใบคอนกรีต ซึ่งเป็นบ่อลอย พวกเราได้มาดูบ่อเลี้ยงปลาผ้าใบคอนกรีต ในร่องสวน ซึ่งเป็นบ่อขุด ขนาดกว้าง 2 เมตร ยาว 15 เมตร สูง 0.5 เมตร ที่พี่ๆตะโหมดทำไว้อย่างเรียบร้อย สวยงาม ท่ามกลางอากาศที่ร้อนอบอ้าว แต่เรากลับสัมผัสถึงน้ำใสไหลเย็นในบ่อปลา และนี่คือข้อดีอีกข้อหนึ่งของผ้าใบคอนกรีต ซึ่งน้องดีน เอสซีจี อธิบายให้พวกเราฟังว่า “...ตัวผ้าใบคอนกรีต เราก็มีแผนที่จะลองเปรียบเทียบระหว่างการดาดด้วยผ้าใบคอนกรีตกับการดาดด้วยพลาสติค เรื่องหนึ่งที่คิดว่าเป็น benefit ก็คือ อุณหภูมิ ครับ อุณหภูมิของสระน้ำที่ดาดด้วยผ้าใบคอนกรีต เนื่องจากมันเป็นซีเมนต์ เป็นวัสดุที่ทำมาจากดิน หิน มันเป็นวัตถุดิบเดียวกันกับพื้นดินข้างล่าง มันเกิดการถ่ายเทความร้อนกันได้ เพราะฉะนั้นน้ำก็จะเย็น เนี่ย อุณหภูมิของน้ำ เย็นมากเลย ซึ่งเหมาะกับการที่เราจะเลี้ยงปลา เหมาะมากครับ...”

สิ่งที่พี่ๆตะโหมดใส่ใจมาก คือ การปรับพื้นที่ให้เรียบร้อย สวยงาม

ภาพนี้ยืนยันว่า บ่อเลี้ยงปลาผ้าใบคอนกรีตสำเร็จได้โดยใช้คนเพียงไม่กี่คน

หากปรับพื้นที่ให้ดีแล้ว การปูผ้าใบคอนกรีตก็จะออกมาเรียบร้อยสวยงาม

งานเสร็จสมบูรณ์ พร้อมๆกับความภาคภูมิใจ

ประจักษ์ชัดถึงความเรียบร้อยสวยงามเมื่อเก็บน้ำไว้เต็มบ่อ

สวย เนี้ยบ แทบทุกตารางนิ้ว
บ่อเลี้ยงปลาผ้าใบคอนกรีต กับความร่มรื่นสวยงามในร่องสวน
ทุกคนที่เยี่ยมชมบ่อเลี้ยงปลาผ้าใบคอนกรีตในร่องสวน ต่างพากันยกนิ้วให้

ฝายชะลอน้ำผ้าใบคอนกรีต

เสร็จจากชมบ่อเลี้ยงปลาผ้าใบคอนกรีตในร่องสวน เรามาต่อกันที่ฝายชะลอน้ำผ้าใบคอนกรีต ณ จุดนี้ ต้องขอเท้าความนิดนึง ตอนแรกพวกเราก็มีความกังวลล่วงหน้า เกรงว่าการนำผ้าใบคอนกรีตมาผสมผสานกับฝายชะลอน้ำกระสอบทราย ซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ดีอยู่แล้ว จะก่อให้เกิดความแปลกแยกหรือไม่ จะทำลายทัศนียภาพของฝายชะลอน้ำหรือไม่ แต่นั่นแหละนะ ถ้าไม่ลอง เราก็ไม่ได้เรียนรู้ 

แต่สิ่งที่พวกเราค้นพบ จะเรียกว่าเป็น Big Surprise ก็ได้ เพราะผ้าใบคอนกรีตดูกลมกลืนไปกับธรรมชาติ แถมยังช่วยแก้ไขจุดอ่อนบางประการของฝายชะลอน้ำกระสอบทรายได้อย่างดี ดังที่พี่อดุลย์เล่าให้พวกเราฟังด้วยความตื่นเต้นว่า “...ฝายกระสอบทรายของชุมชนตะโหมดที่เราช่วยกันทำ ถือว่าเป็นสุดยอดของการทำงานของฝายชั่วคราวแล้ว แต่เมื่อมาได้แผ่นผ้าใบคอนกรีตนี้ มันยิ่งเพิ่มประสิทธิภาพตัวฝายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นวิธีการติดตั้งที่สะดวกสบาย ใช้แรงคนน้อย วันก่อนพวกเรา 4-5 คน มาทำกัน ใช้เวลา 2-3 ชั่วโมงก็เสร็จแล้ว แผ่นผ้าใบคอนกรีตนี้ เมื่อนำมาพับ มาปู เพื่อยกระดับน้ำให้สูงขึ้น มันก็สามารถปูได้อย่างดี คือ ไม่ยุบหายไปไหน มันเกาะแน่น เกาะได้แข็งมาก เมื่อผ่านไปสักหนึ่งเดือน ผ้าใบนี้จะกลมกลืนกับธรรมชาติ มีแพลงค์ตอน มีตะไคร่น้ำมาเกาะเต็ม เป็นประโยชน์กับสัตว์น้ำในพื้นที่ ที่สามารถขึ้นมาเล่นน้ำ คือมีความสุขในการอยู่กับน้ำ กับแผ่นผ้าใบนี้เป็นอย่างมาก ปีนี้น้ำมีตลอด ทุกครั้งที่ฝนตก น้ำจะเต็ม จะมาก จะล้น พอพวกเรามาดู แผ่นผ้าใบของเราก็ยังอยู่เหมือนเดิม สามารถใช้งานได้อย่างดี มีความคงทน หากเปรียบเทียบกับกระสอบเมื่อโดนแสงแดด มันจะผุเปื่อยได้ง่าย แต่ผ้าใบคอนกรีตยิ่งนานเหมือนยิ่งดีขึ้น เหมือนกลายเป็นหินแผ่นใหญ่ๆ สีมันจะคล้ายเป็นหินแล้ว อีกอย่างหนึ่งคือ มันนิ่ม ไม่เหมือนพื้นปูนที่มันจะลื่นตอนเปียกน้ำ แต่ผ้าใบคอนกรีตนี่ มันนิ่มเท้าและมันประกบเข้ากับแนวกระสอบเดิมได้อย่างดีเลย เหลือเชื่อ..."

เริ่มด้วยการขนม้วนผ้าใบคอนกรีตมาที่ฝายชะลอน้ำเป้าหมาย

ฝายชะลอน้ำกระสอบทรายของเดิม

ปูผ้าใบคอนกรีตผืนแรก โดยวางทับลงไปบนฝายกระสอบทราย

ปูผ้าใบผีนแรกเสร็จแล้ว ก็ก็บพับชายขอบให้เรียบร้อย

ตอกตะปูยึดผ้าใบคอนกรีตกับฝายกระสอบทราย

การทดลองผสมผสานผ้าใบคอนกรีตเข้ากับฝายกระสอบทราย สำเร็จลงอย่างสวยงาม

ภาพถ่าย ณ นาทีแรกของฝายชะลอน้ำผ้าใบคอนกรีต

ผ่านไปสามเดือนกว่าๆ ฝายชะลอน้ำผ้าใบคอนกรีตดูกลมกลืนกับธรรมชาติรอบๆ

พี่อดุลย์ชี้ว่า สีดำที่เราเห็นบนฝายชะลอน้ำผ้าใบคอนกรีตนั่นคือ แพลงค์ตอนและตะไคร่น้ำ อาหารโอชะของปลาท้องถิ่น ที่เกาะติดอยู่บนผ้าใบคอนกรีต

พี่อดุลย์และน้องดีน เอสซีจี ถอดรองเท้า เหยียบย่ำไปบนฝายชะลอน้ำผ้าใบคอนกรีต เพื่อยืนยันกับพวกเราว่า มันไม่ลื่นและนุ่มเท้าจริงๆ (นะจะบอกให้)

พี่วาสนา นักอุทกวิทยาชำนาญการพิเศษ จากกรมทรัพยากรน้ำ ยืนจดบันทึกด้วยความสนใจ

คลองส่งน้ำผ้าใบคอนกรีต

จุดสุดท้ายที่พวกเรามาเยี่ยมชมในวันนี้คือ คลองส่งน้ำผ้าใบคอนกรีต เป็นงานชิ้นใหญ่ที่สุดที่พี่ๆตะโหมด ร่วมแรงร่วมใจกันจนสำเร็จลุล่วง สวยงามดังงานศิลป์ชิ้นเอกกลางผืนนา พี่อดุลย์เล่าเสริมว่า “เฉลี่ยแล้ว ผ้าใบคอนกรีต 10 ม้วน กับคน 5 คน จะใช้เวลา 1 ชั่วโมงในการปู ซึ่งเราก็ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญในการทำด้านนี้ เป็นมือใหม่ทั้งหมดเลย ตอนที่เราทำ พื้นก้นคลองจะเป็นดินเละๆ เป็นโคลนตม แต่ตอนนี้ผ้าใบเราแข็งตัวแล้ว จึงไม่เป็นไร”

เริ่มต้นปูผ้าใบคอนกรีตต่อจากห้าม้วนแรกที่ทำค้างไว้ เมื่อเดือนเมษายน
สำเร็จลงด้วยคนไม่กี่คน ในเวลาไม่กี่ชั่วโมง

ภาพถ่าย ณ นาทีแรกของคลองส่งน้ำผ้าใบคอนกรีตที่พี่ๆกลุ่มเล็กๆ ทุ่มเทเพื่อเกษตรกรจำนวนมากในชุมชนตะโหมด
ผ่านไปหนึ่งเดือนคลองส่งน้ำผ้าใบคอนกรีตยังคงใช้งานได้อย่างดี
ผ่านไปสามเดือนคลองส่งน้ำผ้าใบคอนกรีตยังคงสง่างามและดูกลมกลืนกับธรรมชาติกลางท้องทุ่ง

บทสรุปของการทดลองใช้งานผ้าใบคอนกรีตโดยนำมาสร้างบ่อเลี้ยงกุ้ง บ่อเลี้ยงปลา ต่อเติมฝายชะลอน้ำกระสอบทราย และดาดคลองส่งน้ำ นั้น ข้อดีที่ปรากฎให้เห็นเด่นชัด คือ 1) ความสะดวกในการขนส่ง ขนย้าย สามารถใช้งานได้ทุกพื้นที่ แม้ในพื้นที่เข้าถึงยาก เนื่องจากมันสามารถม้วนหรือพับได้ 2) ความสะดวกในการใช้งาน ผู้ที่ไม่มีฝีมือด้านงานช่างก็ทำได้ สามารถระดมแรงงานของสมาชิกในครอบครัวมาช่วยกัน ใช้เวลาไม่กี่ชั่วโมงก็เสร็จ คุณสมบัติข้อนี้ นับว่ามีคุณค่าอย่างยิ่งในสังคมปัจจุบัน ที่ีนับวันการจ้างช่างฝีมือจะหายากขึ้น และมีราคาแพงขึ้นเรื่อยๆ กระแส DIY จึงมาแรง นับว่าผ้าใบคอนกรีตตอบโจทย์ข้อนี้ได้เป็นอย่างดี 3)ใช้งานได้ทุกสถานการณ์ แม้ยามฝนตก น้ำเจิ่งนอง ที่การเทปูนปกติไม่สามารถทำได้ แต่ผ้าใบคอนกรีตทำได้ 4) คุณสมบัติของเส้นใยสังเคราะห์ เมื่อผ้าใบคอนกรีตถูกนำมาใช้งานฝายชะลอน้ำ จึงเป็นที่ยึดเกาะของแพลงค์ตอนและตะไคร่น้ำ กลายเป็นแหล่งอาหารของสัตว์น้ำ ฝายชะลอน้ำผ้าใบคอนกรีตจึงเป็นมิตรกับระบบนิเวศพื้นถิ่น อีกทั้งเป็นมิตรกับผู้คน ตรงที่ปราศจากความลื่นบนพื้นผิว ต่างจากพื้นปูนซีเมนต์ที่เปียกน้ำหรือมีตะไคร่น้ำเกาะแล้วพื้นจะลื่นมาก ทั้งหมดนี้คือข้อดีที่พวกเราค้นพบจากการทดลองใช้งานในช่วงที่ผ่านมา






















นวัตกรรมผ้าใบคอนกรีต กับชุมชนตะโหมด จังหวัดพัทลุง ตอนที่ 2

 แม้ฟ้าฝนไม่เป็นใจ แต่ความตั้งใจไม่เปลี่ยนแปลง

เช้านี้ พวกเราตื่นขึ้นมาพร้อมกับความกังวล ด้วยฝนตกหนักตั้งแต่ค่ำยันเช้า ป่านนี้คลองส่งน้ำของเราจะเป็นอย่างไร เมื่อมาถึงตะโหมดก็พบว่า เป็นอย่างที่กังวลจริงๆ นั่นคือ คลองส่งน้ำมีน้ำเจิ่งนองเสียยิ่งกว่าเมื่อวาน สมาชิกที่นัดไว้ก็ยังมาไม่ถึง บางส่วนก็รีบร้อนไปดูที่นาตนเองเพราะเกรงจะได้รับความเสียหายจากฝนตกหนักเมื่อคืน สถานการณ์ตรงหน้าทำให้ใจเราแฟบลงเหมือนลูกโป่งที่ค่อยๆถูกปล่อยลม



แต่สิ่งที่ทำให้ใจเราค่อยๆฟูขึ้นมา คือพี่ชายชื่อ นิพล บัติปัน ผู้พูดน้อย ทำงานหนัก สไตล์เดียวกับพี่อดุลย์ พี่นิพลมาถึงเป็นคนแรกในเช้าวันนี้และพยายามเร่งสูบน้ำออกจากคลองอย่างไม่ย่อท้อ อีกทั้งน้องๆเอสซีจีก็ไม่ได้แสดงท่าทีกังวลใจให้เราเห็น ช่วยจับจอบมาถางหญ้าปรับพื้นที่ให้เรียบเสมอสวยงามเท่าที่จะทำได้ ระหว่างรอให้น้ำแห้ง และไม่นาน พี่ๆตะโหมดของเราก็มากันพร้อมหน้าพร้อมตา แบบ full team ทำให้ใจแฟบๆของเรา กลับสู่ภาวะปกติอีกครั้ง


แม้เห็นเพียงข้างหลังของชายผู้นี้ พี่นิพล บัติปัน ก็สร้างความอุ่นใจได้มากมาย

พี่นิพล  พยายามสูบน้ำออกจากคลองอย่างไม่ย่อท้อ

สองหนุ่มเอสซีจีทำงานแข็งขันตั้งแต่เมื่อวานจนถึงวันนี้
ด้วยความที่ปริมาณน้ำในคลองมีมากเหลือเกิน แม้จะสูบออกไปได้บ้าง แต่ก็มีน้ำเข้ามาเติมอยู่ตลอด ทีมเอสซีจีและพี่ๆตะโหมดปรึกษากันแล้ว สรุปว่าคงต้องปูผ้าใบคอนกรีตทั้งที่มีน้ำนอนก้นคลองแบบนี้แหละ ไม่เช่นนั้นจะไม่ทันเวลา เพราะตอนบ่ายๆฝนคงจะตกมาอีกแน่นอน ทีมงานจึงแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก ถางหญ้า/ปรับพื้นที่ให้เรียบสม่ำเสมอ กลุ่มสองพากันไปขนย้ายม้วนผ้าใบคอนกรีตที่เก็บไว้ในวัดตะโหมด ออกมาที่ไซต์งาน ปกติแล้วการขนย้ายผ้าใบคอนกรีต มักใช้ 2 คนต่อ 1 ม้วน เพราะแต่ละม้วนหนักราวๆ 60 กิโลกรัม แต่พี่ๆตะโหมดแสดงให้เราดูว่า คนเดียวก็สามารถแบกม้วนผ้าใบคอนกรีต เดินตัวปลิวได้เลย


ม้วนผ้าใบคอนกรีต น้ำหนักราวๆ 60 กิโลกรัม.ใช้สองคนช่วยกันกำลังพอดี

ผู้ใหญ่บ้านแห่งชุมชนตะโหมด แข็งแรงมาก คนเดียวก็แบกม้วนผ้าใบคอนกรีตได้

พี่ชายคนนี้ แข็งแรงมากที่สุด แบกม้วนผ้าใบเดินตัวปลิว
เมื่อคนพร้อม ผ้าใบคอนกรีตพร้อม น้องดีน น้องเอกจากเอสซีจีก็เริ่มอธิบายวิธีปูผ้าใบคอนกรีต การวางเกย/ซ้อนทับ การพับขอบ ตอกตะปูยึดขอบผ้าใบกับพื้นดิน แต่วันนี้ เราจะปูผ้าใบคอนกรีตในสถานการณ์ที่ต่างไปจากเดิม คือ ปูผ้าใบคอนกรีตทั้งที่มีน้ำนอนก้นคลอง งานนี้จึงยากขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง เริ่มแรกพี่ๆตะโหมดใช้ไม้กระดานมาพาดระหว่างคันคลองเพื่อรองรับม้วนผ้าใบ ที่เรากลิ้งจากคันคลองด้านหนึ่งไปยังอีกด้านหนึ่ง ปูม้วนแรกเสร็จ พี่ๆตะโหมดก็คิดหาวิธีใหม่ที่เร็วขึ้น ดีขึ้นกว่าเดิม นั่นคือ ใช้คน 2 คน ลากผ้าใบจากคลองด้านหนึ่งไปยังอีกด้านหนึ่ง ทำให้สามารถปรับผ้าใบคอนกรีตให้ตึง/หย่อนได้ตามต้องการ จากนั้นการปูผ้าใบคอนกรีตม้วนที่สาม สี่ และห้า ก็สำเร็จลงอย่างรวดเร็ว

ปูผ้าใบคอนกรีต ขณะยังมีน้ำนอนก้นคลอง ไม่ใช่เรื่องง่าย ผู้ยืนให้กำลังใจจึงล้นหลาม

ปูผ้าใบคอนกรีตม้วนแรก ใช้ไม้กระดานเป็นตัวช่วย

และแล้วการปูผ้าใบคอนกรีตม้วนแรกก็สำเร็จด้วยดี

น้องเอก สาธิตเครื่องมือสำหรับใช้ตัดผ้าใบคอนกรีตส่วนที่เหลือหรือเกินออกมา

สาธิตเครื่องมือแล้ว ก็ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง

การปูผ้าใบคอนกรีตม้วนที่สอง ใช้สองคนช่วยกัน ไม่ต้องอาศัยไม้กระดานเป็นตัวช่วย

ข้อดีของวิธีนี้คือ เราสามารถปรับความตึง-หย่อนของผ้าใบคอนกรีตได้ตามต้องการ

พี่ๆตะโหมดปูผ้าใบคอนกรีตม้วนที่สามด้วยความคล่องแคล่ว

การปูผ้าใบคอนกรีตม้วนที่สี่และห้า เริ่มต้นและเสร็จลงอย่างรวดเร็ว

น้องดีน สาธิตการตอกตะปูตรึงผ้าใบคอนกรีตให้ยึดติดแน่นกับพื้นดิน

น้องเอกก็ช่วยสาธิตให้ดูอย่างทั่วถึง

น้องเอกสาธิตการเก็บชายขอบผ้าใบคอนกรีตให้เรียบร้อยสวยงาม

นี่คือ ผลงานแห่งความภาคภูมิใจ ในวันนี้

สวยงามดังงานศิลป์ชิ้นเอกกลางท้องทุ่ง
ท่ามกลางวิกฤติ เราก็ได้เห็นโอกาส ได้เห็นศักยภาพของพี่ๆตะโหมด และได้เห็นคุณสมบัติโดดเด่นของผ้าใบคอนกรีต เพราะในสถานการณ์น้ำเจิ่งนองเช่นนี้ วิธีการเทคอนกรีตแบบเดิมๆคงใช้ไม่ได้แน่นอน แต่สำหรับผ้าใบคอนกรีตแล้ว มันทำได้

เรามาดูการดาดคลองส่งน้ำด้วยผ้าใบคอนกรีตของพี่ๆตะโหมดแบบเต็มๆกันค่ะ



ตลอดเวลาสองวัน พวกเราพยายามช่วยกันเก็บข้อมูล ความคิดเห็นของพี่ๆตะโหมดที่มีต่อผ้าใบคอนกรีต แน่นอนว่าจะเป็นใครไปไม่ได้ นอกจากพี่อดุลย์ แก้วคงธรรม และพี่นิพล บัติปัน หัวเรี่ยวหัวแรงที่ทำให้งานสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี 

บทสัมภาษณ์ ณ ริมคลองส่งน้ำ ชุมชนตะโหมด วันที่ 25 เมษายน 2560


เอสซีจี : วันนี้เรามาปูผ้าใบคอนกรีตกันตั้งแต่เช้ายันเที่ยง เป็นอย่างไรบ้างครับ ผ้าใบคอนกรีตตัวนี้
พี่อดุลย์ : เป็นเรื่องใหม่ของชุมชน เพราะผ้าใบคอนกรีต เป็นนวัตกรรมใหม่ที่ชุมชนต้องเรียนรู้ โดยปกติงานในลักษณะนี้ต้องเป็นโครงการขนาดใหญ่ ชุมชนหรือชาวบ้านไม่สามารถทำงานแบบนี้ได้ เพราะต้องมีเครื่องจักร มีผู้รับเหมา มีอุปกรณ์พร้อม แต่วันนี้เราทำคลองส่งน้ำซึ่งชุมชนสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้จริง เมื่อเราใช้ผ้าใบคอนกรีตในการทำคลองส่งน้ำรู้สึกว่า สะดวกและง่ายในการติดตั้ง เป็นอันดับหนึ่ง ทุกคนสามารถทำเองได้ ชาวบ้านปกติที่ไม่มีความรู้เรื่องช่างก็สามารถทำได้ ในการปูผ้าใบคอนกรีต สิ่งที่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษ คือ การเตรียมพื้นที่ ถ้าพื้นที่พร้อม เราก็สามารถทำเวลาได้เร็วขึ้น ง่ายขึ้น วันนี้มีอุปสรรคเรื่องน้ำเพราะช่วงนี้ฝนตกเยอะ ในชุมชนฝนตกทุกวันอย่างนี้ ถ้าเทปูนซีเมนต์ในระบบเดิม ที่ต้องใช้เครื่องจักรมาเทแบบ จะทำงานได้เฉพาะช่วงฝนไม่ตก การเทปูนช่วงฝนตกก็คงได้ไม่ดีเหมือนกัน


พี่นิพล: ถือว่าสะดวกใช้ง่ายเหมาะสำหรับพื้นที่ที่เข้าถึงยากลำบากและดีกว่าปูนทั่วไปเพราะเราทำเองได้ แรงงานในครอบครัว 2-3 คนก็ทำได้ อีกอย่างหนึ่ง คือ การออกแบบ เราสามารถออกแบบตามความคิดของเราได้ ขั้นตอนที่ต้องใส่ใจ คือ การเตรียมพื้นที่ ถ้าเตรียมพื้นที่ดี การปู จะออกมาสวย ต้องใช้ความละเอียดนิดนึงในเรื่องของการปรับพื้นที่ ถ้าปรับพื้นที่ไม่เรียบ ไม่สม่ำเสมอ ก็ออกมาไม่สวย

เอสซีจี : มองว่าการทำงานนี้ยากหรือง่าย คิดว่าเด็ก คนแก่ ผู้หญิง แรงงานที่ไม่ใช่ฝีมือมากมาย จะทำงานตรงนี้ได้ไหมครับ คิดว่าผ้าใบคอนกรีตนำมาทำอะไรได้อีก รวมถึงมีความกังวลต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมบ้างไหมครับ
พี่อดุลย์ : ทำได้ครับ เพราะมันเป็นผ้าใบที่เราไม่ต้องทำอะไรมันแล้ว แค่ปรับสภาพพื้นที่ แล้วปูให้เรียบ ขึ้นรูปให้ได้ตามที่เราต้องการก็ได้แล้วครับ ผ้าใบคอนกรีตขนาด 5 เมตร นับว่าพอดีสำหรับการดาดคลองส่งน้ำ และนอกจากคลองส่งน้ำแล้ว สามารถนำไปประยุกต์ในการทำฝายชะลอน้ำ ที่เราต้องเข้าไปทำในพื้นที่ป่า พื้นที่ลาดชัน และยังทำบ่อเลี้ยงปลา สระน้ำขนาดเล็ก หรือใช้ตกแต่งสวนบริเวณบ้าน งาน DIY ในบ้านในสวน ประเด็นความกังวลด้านมลพิษสิ่งแวดล้อมผมมองว่ามันเหมือนคอนกรีตทั่วไป คุณสมบัติของคอนกรีต ไม่น่าจะมีผลกระทบอะไรต่อสิ่งแวดล้อม




กรมทรัพยากรน้ำ : กิจกรรมวันนี้ ชุมชนมีความพอใจแค่ไหนคะ
พี่อดุลย์: ในส่วนของชุมชนกับกรมทรัพยากรน้ำก็เป็นการทำงานต่อเนื่องต่อยอดจากงานเดิม และการที่ SCG เข้ามาหนุนเสริมผลิตภัณฑ์ก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้ชุมชนทำงานได้ง่ายขึ้น ในการทำงานร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นเอกชน ส่วนราชการ และชุมชน ถ้ามองผลที่ชุมชนได้รับ จัดว่าได้ผลดีมาก เพราะนอกจากตัวกิจกรรมดาดคลองส่งน้ำที่เราทำอยู่แล้วนั้น การทำงานร่วมกันทำให้เรามีเวลาคุยกันมากขึ้น หน่วยงานก็เข้าใจชุมชน ชุมชนก็เข้าใจหน่วยงาน ในการทำงานมีข้อจำกัดอะไรก็พูดคุยกันได้ เป็นการทำงานที่ใช้การมีส่วนร่วม 
กรมทรัพยากรน้ำ : มีแนวคิดจะทำงานบูรณาการกับหน่วยงานราชการหรือเอกชนบ้างไหมคะ
พี่อดุลย์: คิดว่าในส่วนของการจัดการน้ำน่าจะมีการทำแผนร่วมกัน เพราะถ้าเรามีการจัดการที่ดี ทำงานอย่างเป็นระบบ มีแผนทำงานร่วมกัน ส่วนราชการหนุนเสริมชุมชน ชุมชนก็สามารถทำงานหรือเกษตรกรก็จะได้มีทั้งรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สิ่งหนึ่งที่ชุมชนยังไม่รู้คือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อพวกเขาอย่างไร ถ้าจับตามองให้ดีจะเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของชุมชน โดยเฉพาะเศรษฐกิจที่ภาคการเกษตรต้องพึ่งธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นถ้าเรามีการจัดการได้บ้าง ย่อมมีความมั่นคงในการผลิตดีกว่าพึ่งพิงธรรมชาติทั้งหมด 


กรมทรัพยากรน้ำ : ชุมชนมีความรู้สึกอย่างไร ที่เอสซีจีเข้ามาสนับสนุนกิจกรรมของชุมชน 
พี่อดุลย์:  การเข้ามาของเอสซีจี เป็นการช่วยยกระดับการทำงานของชุมชน ชุมชนยังขาดทรัพยากร มีแต่แรงงานและความคิดที่จะทำโน่นทำนี่ ถ้ามีหน่วยงานเอกชน/ราชการมาช่วยกันหนุนเสริม ความร่วมมือนี้จะช่วยพัฒนาชุมชนได้ ชุมชนจะสามารถเดินงานได้ อย่างคลองส่งน้ำสายนี้ เชื่อมระหว่างคลองส่งน้ำจากคลองกงและคลองตะโหมด ทำให้เราสามารถแบ่งปันน้ำ จัดการน้ำเป็นระบบมากขึ้น อีกไม่นานจะมีการซ่อมฝายบริเวณด้านบนคลองกง จึงจะไม่มีน้ำส่งมายังพื้นที่นี้ หากคลองส่งน้ำของเราเสร็จ เราจะสามารถดึงน้ำจากคลองตะโหมดมาสู่คลองกงได้เลย ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้ชาวนาได้

เอสซีจี : เอสซีจีพัฒนาผลิตภัณฑ์เยอะมาก อย่างผ้าใบคอนกรีตตัวนี้เราพัฒนาขึ้นมาเพื่อให้เป็นผลิตภัณฑ์ด้านการเกษตร คิดว่าดีไหมครับหากเราจะชักชวนหน่วยงานเอกชนอื่นๆให้มาคิดพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อหนุนเสริมระบบการเกษตรของไทย เพราะบ้านเราเป็นพื้นที่เกษตรกรรม อย่างนี้ดีไหมครับ

พี่อดุลย์: ดีครับ การที่เอกชนมาหนุนเสริมในเรื่องของระบบส่งน้ำ คิดนวัตกรรมใหม่มาเพื่อชุมชน ชุมชนเองก็พร้อมที่จะรับนวัตกรรมใหม่ในการทำงาน ซึ่งการทำงานร่วมกันแบบนี้จะส่งผลดีต่อทั้งระบบ ไม่ว่าระบบชุมชน ระบบการทำงานของรัฐ ก็จะสามารถทำงานได้ดี รัฐก็ไม่ต้องมาจ่ายค่าชดเชยความเสียหายมากมายยามเกิดภัยธรรมชาติ ชุมชนก็สามารถพึ่งตนเองได้

กรมทรัพยากรน้ำ : มีความพึงพอใจต่อการทำงานของน้องๆ เอสซีจี มากน้อยแค่ไหนคะ
พี่อดุลย์: พอใจมากครับ น้องๆทำงานเกินร้อย ลงทำงานพื้นที่ก็เข้ากับชุมชนได้ดี ทางชุมชนต้องขอขอบคุณน้องทั้งสองท่านที่เข้ามาช่วยในครั้งนี้

เอสซีจี : ทางเราต้องขอบคุณชุมชนด้วยเช่นกัน ตัวนี้เป็นผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ของเอสซีจี การที่เราเข้ามาในชุมชน แล้วเราสามารถที่จะนำตัวผลิตภัณฑ์ใหม่เข้ามาลองใช้ ส่วนหนึ่งเพื่อจะถ่ายทอดองค์ความรู้ ได้ทดลองใช้เป็น site test และถ้าหาก site test นั้น สามารถที่จะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนได้จริงๆ ทางเราจะยินดีมาก

พี่อดุลย์: ขอบคุณน้องๆ SCG ทุกคนที่เข้ามาช่วยหนุนเสริมชุมชน ขอบคุณทีม SCG มาก ที่ได้ลงมาเห็นพื้นที่จริง ได้ทำงานตอบโจทย์ของชุมชนจริงๆ ชุมชนมีโจทย์เยอะ การนำผลิตภัณฑ์นี้มาสู่ชุมชน ช่วยแก้โจทย์ของชุมชนเป็นข้อๆไป เรื่องๆไป ก็ส่งผลดีต่อชุมชน ต้องขอขอบคุณน้องๆจาก SCG ที่เข้ามาช่วยชุมชนตะโหมดในครั้งนี้ ครับ