นวัตกรรมผ้าใบคอนกรีต กับชุมชนตะโหมด จังหวัดพัทลุง ตอนที่ 3

 บทสรุปความพึงพอใจต่อผลิตภัณฑ์ผ้าใบคอนกรีต

นับจากวันสาธิตการปูผ้าใบคอนกรีตจนถึงวันนี้ สิงหาคม 2560 ก็ผ่านไปราว 4 เดือน คณะนักวิจัยจากกรมทรัพยากรน้ำและทีมงานเอสซีจี จึงได้เข้ามาติดตามผลการใช้งานผ้าใบคอนกรีตของชุมชนตะโหมดว่าเป็นอย่างไรบ้าง

ก่อนหน้านี้ หลังจากปูผ้าใบคอนกรีตเสร็จไปช่วงหนึ่ง พวกเราได้ถามพี่ๆตะโหมดว่าคิดอย่างไรต่อผ้าใบคอนกรีต ชอบ-ไม่ชอบ/ ดี-ไม่ดี อย่างไร พี่ๆตะโหมดยังให้คำตอบได้ไม่ชัดเจนเท่าไรนัก ด้วยความที่ผ้าใบคอนกรีตเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ไม่มีใครเคยใช้มาก่อน แต่เมื่อทดลองใช้มาระยะหนึ่ง คำตอบที่ได้จึงมีความชัดเจนขึ้น อีกทั้งความพึงพอใจที่มีต่อผ้าใบคอนกรีต ด้านความสะดวก ใช้งานง่าย และคุณภาพดี ก็เพิ่มมากขึ้นด้วย

บ่อเลี้ยงกุ้งผ้าใบคอนกรีต

เริ่มต้นด้วยการเยี่ยมชมบ่อเลี้ยงกุ้งผ้าใบคอนกรีต พี่อดุลย์เล่าให้พวกเราฟังว่า "... การใช้ผ้าใบคอนกรีตตัวนี้ น้องเค้าใช้เลี้ยงกุ้งก้ามแดง น้ำลึกประมาณ 50 เซนติเมตร ใช้ได้ดีมาก ใครไปใครมาก็ถามว่าเอามาจากไหน คนสนใจเยอะ ตอนทำ ใช้คน 5 คน ใช้เวลา 2 ชั่วโมงก็เสร็จ ข้อดีของการใช้ผ้าใบคอนกรีตคือ เราไม่ต้องใช้ช่างฝีมือหรือคนมีความรู้เรื่องช่าง ก็สามารถทำได้ แค่รู้วิธีการประกบประสานกันของผ้าใบคอนกรีต มันมีข้อจำกัดว่าต้องทำอย่างไรบ้าง เช่นอันนี้ บ่อลอย เราต้องตีโครง ถ้าตีโครงดี โครงแน่น เราก็สามารถปูได้สะดวกและทนทาน ข้อดีอีกส่วนหนึ่ง คือเรื่องของการใช้แรงงาน ไม่จำเป็นต้องจ้างใครมา แค่ใช้แรงงานในครัวเรือนก็สามารถทำได้ ซึ่งอันนี้ก็ชวนเพื่อนๆมาช่วยกันทำแป้บเดียว เลี้ยงน้ำนิดเดียว คือ ต้นทุนเกือบจะไม่มีเลย แค่มาช่วยกัน ใช้เวลา 2 ชั่วโมง บ่อนี้กว้าง 3 เมตร ยาว 10 เมตร ลึก 90 เซนติเมตร เผื่อพับขอบบ่ออีก 10 เซนติเมตร ใช้งานได้ดีมาก เราขังน้ำไว้คืนหนึ่ง แช่น้ำไว้ แล้วเราค่อยๆเพิ่มปริมาณขึ้น มันก็อยู่ได้ไม่รั่ว..."

พี่อดุลย์ กล่าวต่อว่า “...เราได้ประสบการณ์เรื่องนึงคือ การให้แผ่นผ้าใบประกบกันสนิทในรอยต่อเพื่อไม่ให้รั่วน้ำ เราต้องรดน้ำให้ชุ่มเพื่อให้ปูนระหว่างแผ่นมันประสานกันได้สนิท ถ้าเรารดน้ำนิดเดียวแค่เปียก ความชื้นนั้นอาจไม่พอในการประสาน เหมือนกับเรากวนปูนที่ส่วนผสมไม่เข้ากันกับน้ำ อะไรประมาณนั้น การปูแผ่นผ้าใบคอนกรีตก็เหมือนกัน เราต้องรดน้ำให้ชุ่ม ครั้งแรกนะครับ เพื่อให้ปูนมันแข็งด้วย และประสานกันด้วย...”

ช่วยกันปูผ้าใบคอนกรีตสร้างบ่อเลี้ยงกุ้ง 

เห็นแต่ไกล ก็มั่นใจว่านี่คือ...กิจการครอบครัว

งานเสร็จลงพร้อมกับความภาคภูมิใจ

ภาพนี้ถ่ายไว้ตอนที่พวกเรามาดูงาน หลังจากใช้งานมาได้ระยะหนึ่ง

บ่อเลี้ยงกุ้งผ้าใบคอนกรีต ที่แข็งแรงทนทานและเป็นจุดสนใจของผู้คนในชุมชน

บ่อเลี้ยงปลาผ้าใบคอนกรีต

จากบ่อเลี้ยงกุ้งผ้าใบคอนกรีต ซึ่งเป็นบ่อลอย พวกเราได้มาดูบ่อเลี้ยงปลาผ้าใบคอนกรีต ในร่องสวน ซึ่งเป็นบ่อขุด ขนาดกว้าง 2 เมตร ยาว 15 เมตร สูง 0.5 เมตร ที่พี่ๆตะโหมดทำไว้อย่างเรียบร้อย สวยงาม ท่ามกลางอากาศที่ร้อนอบอ้าว แต่เรากลับสัมผัสถึงน้ำใสไหลเย็นในบ่อปลา และนี่คือข้อดีอีกข้อหนึ่งของผ้าใบคอนกรีต ซึ่งน้องดีน เอสซีจี อธิบายให้พวกเราฟังว่า “...ตัวผ้าใบคอนกรีต เราก็มีแผนที่จะลองเปรียบเทียบระหว่างการดาดด้วยผ้าใบคอนกรีตกับการดาดด้วยพลาสติค เรื่องหนึ่งที่คิดว่าเป็น benefit ก็คือ อุณหภูมิ ครับ อุณหภูมิของสระน้ำที่ดาดด้วยผ้าใบคอนกรีต เนื่องจากมันเป็นซีเมนต์ เป็นวัสดุที่ทำมาจากดิน หิน มันเป็นวัตถุดิบเดียวกันกับพื้นดินข้างล่าง มันเกิดการถ่ายเทความร้อนกันได้ เพราะฉะนั้นน้ำก็จะเย็น เนี่ย อุณหภูมิของน้ำ เย็นมากเลย ซึ่งเหมาะกับการที่เราจะเลี้ยงปลา เหมาะมากครับ...”

สิ่งที่พี่ๆตะโหมดใส่ใจมาก คือ การปรับพื้นที่ให้เรียบร้อย สวยงาม

ภาพนี้ยืนยันว่า บ่อเลี้ยงปลาผ้าใบคอนกรีตสำเร็จได้โดยใช้คนเพียงไม่กี่คน

หากปรับพื้นที่ให้ดีแล้ว การปูผ้าใบคอนกรีตก็จะออกมาเรียบร้อยสวยงาม

งานเสร็จสมบูรณ์ พร้อมๆกับความภาคภูมิใจ

ประจักษ์ชัดถึงความเรียบร้อยสวยงามเมื่อเก็บน้ำไว้เต็มบ่อ

สวย เนี้ยบ แทบทุกตารางนิ้ว
บ่อเลี้ยงปลาผ้าใบคอนกรีต กับความร่มรื่นสวยงามในร่องสวน
ทุกคนที่เยี่ยมชมบ่อเลี้ยงปลาผ้าใบคอนกรีตในร่องสวน ต่างพากันยกนิ้วให้

ฝายชะลอน้ำผ้าใบคอนกรีต

เสร็จจากชมบ่อเลี้ยงปลาผ้าใบคอนกรีตในร่องสวน เรามาต่อกันที่ฝายชะลอน้ำผ้าใบคอนกรีต ณ จุดนี้ ต้องขอเท้าความนิดนึง ตอนแรกพวกเราก็มีความกังวลล่วงหน้า เกรงว่าการนำผ้าใบคอนกรีตมาผสมผสานกับฝายชะลอน้ำกระสอบทราย ซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ดีอยู่แล้ว จะก่อให้เกิดความแปลกแยกหรือไม่ จะทำลายทัศนียภาพของฝายชะลอน้ำหรือไม่ แต่นั่นแหละนะ ถ้าไม่ลอง เราก็ไม่ได้เรียนรู้ 

แต่สิ่งที่พวกเราค้นพบ จะเรียกว่าเป็น Big Surprise ก็ได้ เพราะผ้าใบคอนกรีตดูกลมกลืนไปกับธรรมชาติ แถมยังช่วยแก้ไขจุดอ่อนบางประการของฝายชะลอน้ำกระสอบทรายได้อย่างดี ดังที่พี่อดุลย์เล่าให้พวกเราฟังด้วยความตื่นเต้นว่า “...ฝายกระสอบทรายของชุมชนตะโหมดที่เราช่วยกันทำ ถือว่าเป็นสุดยอดของการทำงานของฝายชั่วคราวแล้ว แต่เมื่อมาได้แผ่นผ้าใบคอนกรีตนี้ มันยิ่งเพิ่มประสิทธิภาพตัวฝายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นวิธีการติดตั้งที่สะดวกสบาย ใช้แรงคนน้อย วันก่อนพวกเรา 4-5 คน มาทำกัน ใช้เวลา 2-3 ชั่วโมงก็เสร็จแล้ว แผ่นผ้าใบคอนกรีตนี้ เมื่อนำมาพับ มาปู เพื่อยกระดับน้ำให้สูงขึ้น มันก็สามารถปูได้อย่างดี คือ ไม่ยุบหายไปไหน มันเกาะแน่น เกาะได้แข็งมาก เมื่อผ่านไปสักหนึ่งเดือน ผ้าใบนี้จะกลมกลืนกับธรรมชาติ มีแพลงค์ตอน มีตะไคร่น้ำมาเกาะเต็ม เป็นประโยชน์กับสัตว์น้ำในพื้นที่ ที่สามารถขึ้นมาเล่นน้ำ คือมีความสุขในการอยู่กับน้ำ กับแผ่นผ้าใบนี้เป็นอย่างมาก ปีนี้น้ำมีตลอด ทุกครั้งที่ฝนตก น้ำจะเต็ม จะมาก จะล้น พอพวกเรามาดู แผ่นผ้าใบของเราก็ยังอยู่เหมือนเดิม สามารถใช้งานได้อย่างดี มีความคงทน หากเปรียบเทียบกับกระสอบเมื่อโดนแสงแดด มันจะผุเปื่อยได้ง่าย แต่ผ้าใบคอนกรีตยิ่งนานเหมือนยิ่งดีขึ้น เหมือนกลายเป็นหินแผ่นใหญ่ๆ สีมันจะคล้ายเป็นหินแล้ว อีกอย่างหนึ่งคือ มันนิ่ม ไม่เหมือนพื้นปูนที่มันจะลื่นตอนเปียกน้ำ แต่ผ้าใบคอนกรีตนี่ มันนิ่มเท้าและมันประกบเข้ากับแนวกระสอบเดิมได้อย่างดีเลย เหลือเชื่อ..."

เริ่มด้วยการขนม้วนผ้าใบคอนกรีตมาที่ฝายชะลอน้ำเป้าหมาย

ฝายชะลอน้ำกระสอบทรายของเดิม

ปูผ้าใบคอนกรีตผืนแรก โดยวางทับลงไปบนฝายกระสอบทราย

ปูผ้าใบผีนแรกเสร็จแล้ว ก็ก็บพับชายขอบให้เรียบร้อย

ตอกตะปูยึดผ้าใบคอนกรีตกับฝายกระสอบทราย

การทดลองผสมผสานผ้าใบคอนกรีตเข้ากับฝายกระสอบทราย สำเร็จลงอย่างสวยงาม

ภาพถ่าย ณ นาทีแรกของฝายชะลอน้ำผ้าใบคอนกรีต

ผ่านไปสามเดือนกว่าๆ ฝายชะลอน้ำผ้าใบคอนกรีตดูกลมกลืนกับธรรมชาติรอบๆ

พี่อดุลย์ชี้ว่า สีดำที่เราเห็นบนฝายชะลอน้ำผ้าใบคอนกรีตนั่นคือ แพลงค์ตอนและตะไคร่น้ำ อาหารโอชะของปลาท้องถิ่น ที่เกาะติดอยู่บนผ้าใบคอนกรีต

พี่อดุลย์และน้องดีน เอสซีจี ถอดรองเท้า เหยียบย่ำไปบนฝายชะลอน้ำผ้าใบคอนกรีต เพื่อยืนยันกับพวกเราว่า มันไม่ลื่นและนุ่มเท้าจริงๆ (นะจะบอกให้)

พี่วาสนา นักอุทกวิทยาชำนาญการพิเศษ จากกรมทรัพยากรน้ำ ยืนจดบันทึกด้วยความสนใจ

คลองส่งน้ำผ้าใบคอนกรีต

จุดสุดท้ายที่พวกเรามาเยี่ยมชมในวันนี้คือ คลองส่งน้ำผ้าใบคอนกรีต เป็นงานชิ้นใหญ่ที่สุดที่พี่ๆตะโหมด ร่วมแรงร่วมใจกันจนสำเร็จลุล่วง สวยงามดังงานศิลป์ชิ้นเอกกลางผืนนา พี่อดุลย์เล่าเสริมว่า “เฉลี่ยแล้ว ผ้าใบคอนกรีต 10 ม้วน กับคน 5 คน จะใช้เวลา 1 ชั่วโมงในการปู ซึ่งเราก็ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญในการทำด้านนี้ เป็นมือใหม่ทั้งหมดเลย ตอนที่เราทำ พื้นก้นคลองจะเป็นดินเละๆ เป็นโคลนตม แต่ตอนนี้ผ้าใบเราแข็งตัวแล้ว จึงไม่เป็นไร”

เริ่มต้นปูผ้าใบคอนกรีตต่อจากห้าม้วนแรกที่ทำค้างไว้ เมื่อเดือนเมษายน
สำเร็จลงด้วยคนไม่กี่คน ในเวลาไม่กี่ชั่วโมง

ภาพถ่าย ณ นาทีแรกของคลองส่งน้ำผ้าใบคอนกรีตที่พี่ๆกลุ่มเล็กๆ ทุ่มเทเพื่อเกษตรกรจำนวนมากในชุมชนตะโหมด
ผ่านไปหนึ่งเดือนคลองส่งน้ำผ้าใบคอนกรีตยังคงใช้งานได้อย่างดี
ผ่านไปสามเดือนคลองส่งน้ำผ้าใบคอนกรีตยังคงสง่างามและดูกลมกลืนกับธรรมชาติกลางท้องทุ่ง

บทสรุปของการทดลองใช้งานผ้าใบคอนกรีตโดยนำมาสร้างบ่อเลี้ยงกุ้ง บ่อเลี้ยงปลา ต่อเติมฝายชะลอน้ำกระสอบทราย และดาดคลองส่งน้ำ นั้น ข้อดีที่ปรากฎให้เห็นเด่นชัด คือ 1) ความสะดวกในการขนส่ง ขนย้าย สามารถใช้งานได้ทุกพื้นที่ แม้ในพื้นที่เข้าถึงยาก เนื่องจากมันสามารถม้วนหรือพับได้ 2) ความสะดวกในการใช้งาน ผู้ที่ไม่มีฝีมือด้านงานช่างก็ทำได้ สามารถระดมแรงงานของสมาชิกในครอบครัวมาช่วยกัน ใช้เวลาไม่กี่ชั่วโมงก็เสร็จ คุณสมบัติข้อนี้ นับว่ามีคุณค่าอย่างยิ่งในสังคมปัจจุบัน ที่ีนับวันการจ้างช่างฝีมือจะหายากขึ้น และมีราคาแพงขึ้นเรื่อยๆ กระแส DIY จึงมาแรง นับว่าผ้าใบคอนกรีตตอบโจทย์ข้อนี้ได้เป็นอย่างดี 3)ใช้งานได้ทุกสถานการณ์ แม้ยามฝนตก น้ำเจิ่งนอง ที่การเทปูนปกติไม่สามารถทำได้ แต่ผ้าใบคอนกรีตทำได้ 4) คุณสมบัติของเส้นใยสังเคราะห์ เมื่อผ้าใบคอนกรีตถูกนำมาใช้งานฝายชะลอน้ำ จึงเป็นที่ยึดเกาะของแพลงค์ตอนและตะไคร่น้ำ กลายเป็นแหล่งอาหารของสัตว์น้ำ ฝายชะลอน้ำผ้าใบคอนกรีตจึงเป็นมิตรกับระบบนิเวศพื้นถิ่น อีกทั้งเป็นมิตรกับผู้คน ตรงที่ปราศจากความลื่นบนพื้นผิว ต่างจากพื้นปูนซีเมนต์ที่เปียกน้ำหรือมีตะไคร่น้ำเกาะแล้วพื้นจะลื่นมาก ทั้งหมดนี้คือข้อดีที่พวกเราค้นพบจากการทดลองใช้งานในช่วงที่ผ่านมา