นวัตกรรมผ้าใบคอนกรีต กับชุมชนตะโหมด จังหวัดพัทลุง ตอนที่ 2

 แม้ฟ้าฝนไม่เป็นใจ แต่ความตั้งใจไม่เปลี่ยนแปลง

เช้านี้ พวกเราตื่นขึ้นมาพร้อมกับความกังวล ด้วยฝนตกหนักตั้งแต่ค่ำยันเช้า ป่านนี้คลองส่งน้ำของเราจะเป็นอย่างไร เมื่อมาถึงตะโหมดก็พบว่า เป็นอย่างที่กังวลจริงๆ นั่นคือ คลองส่งน้ำมีน้ำเจิ่งนองเสียยิ่งกว่าเมื่อวาน สมาชิกที่นัดไว้ก็ยังมาไม่ถึง บางส่วนก็รีบร้อนไปดูที่นาตนเองเพราะเกรงจะได้รับความเสียหายจากฝนตกหนักเมื่อคืน สถานการณ์ตรงหน้าทำให้ใจเราแฟบลงเหมือนลูกโป่งที่ค่อยๆถูกปล่อยลม



แต่สิ่งที่ทำให้ใจเราค่อยๆฟูขึ้นมา คือพี่ชายชื่อ นิพล บัติปัน ผู้พูดน้อย ทำงานหนัก สไตล์เดียวกับพี่อดุลย์ พี่นิพลมาถึงเป็นคนแรกในเช้าวันนี้และพยายามเร่งสูบน้ำออกจากคลองอย่างไม่ย่อท้อ อีกทั้งน้องๆเอสซีจีก็ไม่ได้แสดงท่าทีกังวลใจให้เราเห็น ช่วยจับจอบมาถางหญ้าปรับพื้นที่ให้เรียบเสมอสวยงามเท่าที่จะทำได้ ระหว่างรอให้น้ำแห้ง และไม่นาน พี่ๆตะโหมดของเราก็มากันพร้อมหน้าพร้อมตา แบบ full team ทำให้ใจแฟบๆของเรา กลับสู่ภาวะปกติอีกครั้ง


แม้เห็นเพียงข้างหลังของชายผู้นี้ พี่นิพล บัติปัน ก็สร้างความอุ่นใจได้มากมาย

พี่นิพล  พยายามสูบน้ำออกจากคลองอย่างไม่ย่อท้อ

สองหนุ่มเอสซีจีทำงานแข็งขันตั้งแต่เมื่อวานจนถึงวันนี้
ด้วยความที่ปริมาณน้ำในคลองมีมากเหลือเกิน แม้จะสูบออกไปได้บ้าง แต่ก็มีน้ำเข้ามาเติมอยู่ตลอด ทีมเอสซีจีและพี่ๆตะโหมดปรึกษากันแล้ว สรุปว่าคงต้องปูผ้าใบคอนกรีตทั้งที่มีน้ำนอนก้นคลองแบบนี้แหละ ไม่เช่นนั้นจะไม่ทันเวลา เพราะตอนบ่ายๆฝนคงจะตกมาอีกแน่นอน ทีมงานจึงแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก ถางหญ้า/ปรับพื้นที่ให้เรียบสม่ำเสมอ กลุ่มสองพากันไปขนย้ายม้วนผ้าใบคอนกรีตที่เก็บไว้ในวัดตะโหมด ออกมาที่ไซต์งาน ปกติแล้วการขนย้ายผ้าใบคอนกรีต มักใช้ 2 คนต่อ 1 ม้วน เพราะแต่ละม้วนหนักราวๆ 60 กิโลกรัม แต่พี่ๆตะโหมดแสดงให้เราดูว่า คนเดียวก็สามารถแบกม้วนผ้าใบคอนกรีต เดินตัวปลิวได้เลย


ม้วนผ้าใบคอนกรีต น้ำหนักราวๆ 60 กิโลกรัม.ใช้สองคนช่วยกันกำลังพอดี

ผู้ใหญ่บ้านแห่งชุมชนตะโหมด แข็งแรงมาก คนเดียวก็แบกม้วนผ้าใบคอนกรีตได้

พี่ชายคนนี้ แข็งแรงมากที่สุด แบกม้วนผ้าใบเดินตัวปลิว
เมื่อคนพร้อม ผ้าใบคอนกรีตพร้อม น้องดีน น้องเอกจากเอสซีจีก็เริ่มอธิบายวิธีปูผ้าใบคอนกรีต การวางเกย/ซ้อนทับ การพับขอบ ตอกตะปูยึดขอบผ้าใบกับพื้นดิน แต่วันนี้ เราจะปูผ้าใบคอนกรีตในสถานการณ์ที่ต่างไปจากเดิม คือ ปูผ้าใบคอนกรีตทั้งที่มีน้ำนอนก้นคลอง งานนี้จึงยากขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง เริ่มแรกพี่ๆตะโหมดใช้ไม้กระดานมาพาดระหว่างคันคลองเพื่อรองรับม้วนผ้าใบ ที่เรากลิ้งจากคันคลองด้านหนึ่งไปยังอีกด้านหนึ่ง ปูม้วนแรกเสร็จ พี่ๆตะโหมดก็คิดหาวิธีใหม่ที่เร็วขึ้น ดีขึ้นกว่าเดิม นั่นคือ ใช้คน 2 คน ลากผ้าใบจากคลองด้านหนึ่งไปยังอีกด้านหนึ่ง ทำให้สามารถปรับผ้าใบคอนกรีตให้ตึง/หย่อนได้ตามต้องการ จากนั้นการปูผ้าใบคอนกรีตม้วนที่สาม สี่ และห้า ก็สำเร็จลงอย่างรวดเร็ว

ปูผ้าใบคอนกรีต ขณะยังมีน้ำนอนก้นคลอง ไม่ใช่เรื่องง่าย ผู้ยืนให้กำลังใจจึงล้นหลาม

ปูผ้าใบคอนกรีตม้วนแรก ใช้ไม้กระดานเป็นตัวช่วย

และแล้วการปูผ้าใบคอนกรีตม้วนแรกก็สำเร็จด้วยดี

น้องเอก สาธิตเครื่องมือสำหรับใช้ตัดผ้าใบคอนกรีตส่วนที่เหลือหรือเกินออกมา

สาธิตเครื่องมือแล้ว ก็ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง

การปูผ้าใบคอนกรีตม้วนที่สอง ใช้สองคนช่วยกัน ไม่ต้องอาศัยไม้กระดานเป็นตัวช่วย

ข้อดีของวิธีนี้คือ เราสามารถปรับความตึง-หย่อนของผ้าใบคอนกรีตได้ตามต้องการ

พี่ๆตะโหมดปูผ้าใบคอนกรีตม้วนที่สามด้วยความคล่องแคล่ว

การปูผ้าใบคอนกรีตม้วนที่สี่และห้า เริ่มต้นและเสร็จลงอย่างรวดเร็ว

น้องดีน สาธิตการตอกตะปูตรึงผ้าใบคอนกรีตให้ยึดติดแน่นกับพื้นดิน

น้องเอกก็ช่วยสาธิตให้ดูอย่างทั่วถึง

น้องเอกสาธิตการเก็บชายขอบผ้าใบคอนกรีตให้เรียบร้อยสวยงาม

นี่คือ ผลงานแห่งความภาคภูมิใจ ในวันนี้

สวยงามดังงานศิลป์ชิ้นเอกกลางท้องทุ่ง
ท่ามกลางวิกฤติ เราก็ได้เห็นโอกาส ได้เห็นศักยภาพของพี่ๆตะโหมด และได้เห็นคุณสมบัติโดดเด่นของผ้าใบคอนกรีต เพราะในสถานการณ์น้ำเจิ่งนองเช่นนี้ วิธีการเทคอนกรีตแบบเดิมๆคงใช้ไม่ได้แน่นอน แต่สำหรับผ้าใบคอนกรีตแล้ว มันทำได้

เรามาดูการดาดคลองส่งน้ำด้วยผ้าใบคอนกรีตของพี่ๆตะโหมดแบบเต็มๆกันค่ะ



ตลอดเวลาสองวัน พวกเราพยายามช่วยกันเก็บข้อมูล ความคิดเห็นของพี่ๆตะโหมดที่มีต่อผ้าใบคอนกรีต แน่นอนว่าจะเป็นใครไปไม่ได้ นอกจากพี่อดุลย์ แก้วคงธรรม และพี่นิพล บัติปัน หัวเรี่ยวหัวแรงที่ทำให้งานสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี 

บทสัมภาษณ์ ณ ริมคลองส่งน้ำ ชุมชนตะโหมด วันที่ 25 เมษายน 2560


เอสซีจี : วันนี้เรามาปูผ้าใบคอนกรีตกันตั้งแต่เช้ายันเที่ยง เป็นอย่างไรบ้างครับ ผ้าใบคอนกรีตตัวนี้
พี่อดุลย์ : เป็นเรื่องใหม่ของชุมชน เพราะผ้าใบคอนกรีต เป็นนวัตกรรมใหม่ที่ชุมชนต้องเรียนรู้ โดยปกติงานในลักษณะนี้ต้องเป็นโครงการขนาดใหญ่ ชุมชนหรือชาวบ้านไม่สามารถทำงานแบบนี้ได้ เพราะต้องมีเครื่องจักร มีผู้รับเหมา มีอุปกรณ์พร้อม แต่วันนี้เราทำคลองส่งน้ำซึ่งชุมชนสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้จริง เมื่อเราใช้ผ้าใบคอนกรีตในการทำคลองส่งน้ำรู้สึกว่า สะดวกและง่ายในการติดตั้ง เป็นอันดับหนึ่ง ทุกคนสามารถทำเองได้ ชาวบ้านปกติที่ไม่มีความรู้เรื่องช่างก็สามารถทำได้ ในการปูผ้าใบคอนกรีต สิ่งที่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษ คือ การเตรียมพื้นที่ ถ้าพื้นที่พร้อม เราก็สามารถทำเวลาได้เร็วขึ้น ง่ายขึ้น วันนี้มีอุปสรรคเรื่องน้ำเพราะช่วงนี้ฝนตกเยอะ ในชุมชนฝนตกทุกวันอย่างนี้ ถ้าเทปูนซีเมนต์ในระบบเดิม ที่ต้องใช้เครื่องจักรมาเทแบบ จะทำงานได้เฉพาะช่วงฝนไม่ตก การเทปูนช่วงฝนตกก็คงได้ไม่ดีเหมือนกัน


พี่นิพล: ถือว่าสะดวกใช้ง่ายเหมาะสำหรับพื้นที่ที่เข้าถึงยากลำบากและดีกว่าปูนทั่วไปเพราะเราทำเองได้ แรงงานในครอบครัว 2-3 คนก็ทำได้ อีกอย่างหนึ่ง คือ การออกแบบ เราสามารถออกแบบตามความคิดของเราได้ ขั้นตอนที่ต้องใส่ใจ คือ การเตรียมพื้นที่ ถ้าเตรียมพื้นที่ดี การปู จะออกมาสวย ต้องใช้ความละเอียดนิดนึงในเรื่องของการปรับพื้นที่ ถ้าปรับพื้นที่ไม่เรียบ ไม่สม่ำเสมอ ก็ออกมาไม่สวย

เอสซีจี : มองว่าการทำงานนี้ยากหรือง่าย คิดว่าเด็ก คนแก่ ผู้หญิง แรงงานที่ไม่ใช่ฝีมือมากมาย จะทำงานตรงนี้ได้ไหมครับ คิดว่าผ้าใบคอนกรีตนำมาทำอะไรได้อีก รวมถึงมีความกังวลต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมบ้างไหมครับ
พี่อดุลย์ : ทำได้ครับ เพราะมันเป็นผ้าใบที่เราไม่ต้องทำอะไรมันแล้ว แค่ปรับสภาพพื้นที่ แล้วปูให้เรียบ ขึ้นรูปให้ได้ตามที่เราต้องการก็ได้แล้วครับ ผ้าใบคอนกรีตขนาด 5 เมตร นับว่าพอดีสำหรับการดาดคลองส่งน้ำ และนอกจากคลองส่งน้ำแล้ว สามารถนำไปประยุกต์ในการทำฝายชะลอน้ำ ที่เราต้องเข้าไปทำในพื้นที่ป่า พื้นที่ลาดชัน และยังทำบ่อเลี้ยงปลา สระน้ำขนาดเล็ก หรือใช้ตกแต่งสวนบริเวณบ้าน งาน DIY ในบ้านในสวน ประเด็นความกังวลด้านมลพิษสิ่งแวดล้อมผมมองว่ามันเหมือนคอนกรีตทั่วไป คุณสมบัติของคอนกรีต ไม่น่าจะมีผลกระทบอะไรต่อสิ่งแวดล้อม




กรมทรัพยากรน้ำ : กิจกรรมวันนี้ ชุมชนมีความพอใจแค่ไหนคะ
พี่อดุลย์: ในส่วนของชุมชนกับกรมทรัพยากรน้ำก็เป็นการทำงานต่อเนื่องต่อยอดจากงานเดิม และการที่ SCG เข้ามาหนุนเสริมผลิตภัณฑ์ก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้ชุมชนทำงานได้ง่ายขึ้น ในการทำงานร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นเอกชน ส่วนราชการ และชุมชน ถ้ามองผลที่ชุมชนได้รับ จัดว่าได้ผลดีมาก เพราะนอกจากตัวกิจกรรมดาดคลองส่งน้ำที่เราทำอยู่แล้วนั้น การทำงานร่วมกันทำให้เรามีเวลาคุยกันมากขึ้น หน่วยงานก็เข้าใจชุมชน ชุมชนก็เข้าใจหน่วยงาน ในการทำงานมีข้อจำกัดอะไรก็พูดคุยกันได้ เป็นการทำงานที่ใช้การมีส่วนร่วม 
กรมทรัพยากรน้ำ : มีแนวคิดจะทำงานบูรณาการกับหน่วยงานราชการหรือเอกชนบ้างไหมคะ
พี่อดุลย์: คิดว่าในส่วนของการจัดการน้ำน่าจะมีการทำแผนร่วมกัน เพราะถ้าเรามีการจัดการที่ดี ทำงานอย่างเป็นระบบ มีแผนทำงานร่วมกัน ส่วนราชการหนุนเสริมชุมชน ชุมชนก็สามารถทำงานหรือเกษตรกรก็จะได้มีทั้งรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สิ่งหนึ่งที่ชุมชนยังไม่รู้คือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อพวกเขาอย่างไร ถ้าจับตามองให้ดีจะเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของชุมชน โดยเฉพาะเศรษฐกิจที่ภาคการเกษตรต้องพึ่งธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นถ้าเรามีการจัดการได้บ้าง ย่อมมีความมั่นคงในการผลิตดีกว่าพึ่งพิงธรรมชาติทั้งหมด 


กรมทรัพยากรน้ำ : ชุมชนมีความรู้สึกอย่างไร ที่เอสซีจีเข้ามาสนับสนุนกิจกรรมของชุมชน 
พี่อดุลย์:  การเข้ามาของเอสซีจี เป็นการช่วยยกระดับการทำงานของชุมชน ชุมชนยังขาดทรัพยากร มีแต่แรงงานและความคิดที่จะทำโน่นทำนี่ ถ้ามีหน่วยงานเอกชน/ราชการมาช่วยกันหนุนเสริม ความร่วมมือนี้จะช่วยพัฒนาชุมชนได้ ชุมชนจะสามารถเดินงานได้ อย่างคลองส่งน้ำสายนี้ เชื่อมระหว่างคลองส่งน้ำจากคลองกงและคลองตะโหมด ทำให้เราสามารถแบ่งปันน้ำ จัดการน้ำเป็นระบบมากขึ้น อีกไม่นานจะมีการซ่อมฝายบริเวณด้านบนคลองกง จึงจะไม่มีน้ำส่งมายังพื้นที่นี้ หากคลองส่งน้ำของเราเสร็จ เราจะสามารถดึงน้ำจากคลองตะโหมดมาสู่คลองกงได้เลย ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้ชาวนาได้

เอสซีจี : เอสซีจีพัฒนาผลิตภัณฑ์เยอะมาก อย่างผ้าใบคอนกรีตตัวนี้เราพัฒนาขึ้นมาเพื่อให้เป็นผลิตภัณฑ์ด้านการเกษตร คิดว่าดีไหมครับหากเราจะชักชวนหน่วยงานเอกชนอื่นๆให้มาคิดพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อหนุนเสริมระบบการเกษตรของไทย เพราะบ้านเราเป็นพื้นที่เกษตรกรรม อย่างนี้ดีไหมครับ

พี่อดุลย์: ดีครับ การที่เอกชนมาหนุนเสริมในเรื่องของระบบส่งน้ำ คิดนวัตกรรมใหม่มาเพื่อชุมชน ชุมชนเองก็พร้อมที่จะรับนวัตกรรมใหม่ในการทำงาน ซึ่งการทำงานร่วมกันแบบนี้จะส่งผลดีต่อทั้งระบบ ไม่ว่าระบบชุมชน ระบบการทำงานของรัฐ ก็จะสามารถทำงานได้ดี รัฐก็ไม่ต้องมาจ่ายค่าชดเชยความเสียหายมากมายยามเกิดภัยธรรมชาติ ชุมชนก็สามารถพึ่งตนเองได้

กรมทรัพยากรน้ำ : มีความพึงพอใจต่อการทำงานของน้องๆ เอสซีจี มากน้อยแค่ไหนคะ
พี่อดุลย์: พอใจมากครับ น้องๆทำงานเกินร้อย ลงทำงานพื้นที่ก็เข้ากับชุมชนได้ดี ทางชุมชนต้องขอขอบคุณน้องทั้งสองท่านที่เข้ามาช่วยในครั้งนี้

เอสซีจี : ทางเราต้องขอบคุณชุมชนด้วยเช่นกัน ตัวนี้เป็นผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ของเอสซีจี การที่เราเข้ามาในชุมชน แล้วเราสามารถที่จะนำตัวผลิตภัณฑ์ใหม่เข้ามาลองใช้ ส่วนหนึ่งเพื่อจะถ่ายทอดองค์ความรู้ ได้ทดลองใช้เป็น site test และถ้าหาก site test นั้น สามารถที่จะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนได้จริงๆ ทางเราจะยินดีมาก

พี่อดุลย์: ขอบคุณน้องๆ SCG ทุกคนที่เข้ามาช่วยหนุนเสริมชุมชน ขอบคุณทีม SCG มาก ที่ได้ลงมาเห็นพื้นที่จริง ได้ทำงานตอบโจทย์ของชุมชนจริงๆ ชุมชนมีโจทย์เยอะ การนำผลิตภัณฑ์นี้มาสู่ชุมชน ช่วยแก้โจทย์ของชุมชนเป็นข้อๆไป เรื่องๆไป ก็ส่งผลดีต่อชุมชน ต้องขอขอบคุณน้องๆจาก SCG ที่เข้ามาช่วยชุมชนตะโหมดในครั้งนี้ ครับ